ปรับปรุงล่าสุด 2 ธ.ค. 2022 03:31:41 2,494

 

ข้อมูลสภาพทั่วไป

        สำนักงานเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ตั้งอยู่เลขที่ 169 หมู่5 ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 37 กิโลเมตร เทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ได้จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 2  ธันวาคม  2565 มีประชากร ทั้งสิ้น 3,017 คน ชาย 1,432 คน หญิง 1,585 คน จำนวน 1,610 ครัวเรือน

เนื้อที่

            เทศบาลตำบลม่วงสามสิบ มีพื้นที่รับผิดชอบ 1.84 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,154 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 1, หมู่ที่ 5, หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านม่วงสามสิบ หมู่ที่ 12 เขตรับผิดชอบองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านม่วงสามสิบ หมู่ที่ 12 เขตรับผิดชอบองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเทพา หมู่ที่ 8 และ บ้านม่วงสามสิบ หมู่ที่ 10 เขตรับผิดชอบองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านม่วงสามสิบ หมู่ที่ 5 และ บ้านม่วงสามสิบ หมู่ที่ 12 เขตรับผิดชอบองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

 

ลักษณะภูมิประเทศ

             อำเภอม่วงสามสิบเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งโคราช ซึ่งมีลักษณะพื้นผิวสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 0 – 200 เมตร ลักษณะทั่วไปจึงเป็นที่ราบสูงและที่ราบลูกคลื่นเล็กน้อย มีความลาดเอียงต่ำกว่า 2 %ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของเทศบาลตำบลม่วงสามสิบเป็นที่ราบเรียบ

ลักษณะภูมิอากาศ

                  พื้นที่รับผิดชอบเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย ดังนี้

  • ฤดูฝน เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม และฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม ช่วงปลายฤดูฝนมีพายุดีเปรสชั่น ฝนตกชุก บางปีมีน้ำท่วมแต่ไม่รุนแรงนัก
  •  ฤดูหนาว ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนภูมิภาคอื่นเนื่องจากอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศไทย อุณหภูมิเริ่มต่ำตั้งแต่ เดือนตุลาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ หนาวจัดในช่วงปลาย เดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยในระดับ 16.5 องศาเซลเซียส
  •  ฤดูร้อน เริ่มในเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม มีฝนเล็กน้อยในปลายเดือนเมษายน แต่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก อุณหภูมิเฉลี่ยในระดับ 34.8 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปสภาพอากาศไม่ร้อน หรือ หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีในระดับ 22.32 องศาเซลเซียส

การคมนาคม

      ถนนสายหลัก คือ ถนนชยางกูร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212) ตัดผ่านกลางเขตเทศบาล ซึ่งมีผลต่อการก่อสร้างบ้านเรือนของประชาชน ถนนชยางกูรยังเป็นเส้นทางที่ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ สภาพถนนเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ มีขนาดเขตทาง 30 เมตร ผิวจราจร 7 เมตร 4 ช่องจราจร มีความยาวในเขตเทศบาล 2,380 เมตร

      ถนนสายรอง คือ ถนนม่วงสามสิบ-พนา (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2049) เชื่อมต่อกับถนนชยางกูรบริเวณหมู่ที่ 1 สภาพถนนเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ มีขนาดเขตทาง 8 เมตร ผิวจราจร 5 เมตร

      ถนนภายในชุมชน คือ ถนนเทศบาล 1 – ถนนเทศบาล 21 เป็นเส้นทางจราจรที่ใช้สัญจรภายในชุมชน เป็นถนนแยกจากถนนสายหลัก และถนนสายรอง โดยเชื่อมโยงเป็นตารางกริด สภาพถนนส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาดเขตทางตั้งแต่ 6 – 10 เมตร

      การคมนาคมขนส่งสามารถติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกโดยทางรถยนต์โดยสารประจำทาง อาทิ

  1. สายอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ
  2. สายอุบลราชธานี - มุกดาหาร
  3. สายอุบลราชธานี - นครพนม

      นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์โดยสารประจำทางสำหรับภายในชุมชน และอำเภอใกล้เคียง อาทิ

  1. สายอุบลราชธานี - พนา
  2. สายอุบลราชธานี - เขมราฐ
  3. สายม่วงสามสิบ - เขื่องใน
  4. สายอุบลราชธานี - ม่วงสามสิบ

การใช้ที่ดิน

      บริเวณที่อยู่อาศัย การใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยของชุมชนเทศบาลตำบลม่วงสามสิบส่วนใหญ่จะรวมตัวกันหนาแน่นบริเวณหมู่ 1 โดยหนาแน่นตามเส้นทางคมนาคม ลักษณะของอาคารในบริเวณที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ ส่วนบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางชุมชน เป็นลักษณะบ้านเรือนแบบชนบท การใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยมีพื้นที่ประมาณ 112.5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.08 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณพานิชยกรรม การใช้ที่ดินประเภทพานิชยกรรม หรือการค้า จะรวมกลุ่มบริเวณหมู่ 10 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในบริเวณริมถนนชยางกูร ถนนม่วงสามสิบ - พนา และถนนเทศบาล 8 การใช้ที่ดินประเภทนี้ประกอบด้วยอาคารร้านค้า และตลาดสด ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 11.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.71 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณอุตสาหกรรม การใช้ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมในชุมชนเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ประกอบด้วยโรงสี โรงซ่อมเครื่องยนต์ และโกดังสินค้า การใช้ที่ดินประเภทนี้มีพื้นที่ประมาณ 46.87 ไร่ ของพื้นที่เขตการวางผัง

      บริเวณสถาบันการศึกษา การใช้ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษาประกอบด้วย โรงเรียนรัฐบาล จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนม่วงสามสิบอำนวยปัญญา (ระดับประถมศึกษา) และโรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา (ระดับมัธยมศึกษา) ให้บริการในเขตตำบลม่วงสามสิบ และพื้นที่ใกล้เคียง การใช้ที่ดินประเภทนี้มีพื้นที่ประมาณ 59.38 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.74 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณสถาบันศาสนา การใช้ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา คือ วัดม่วงสามสิบ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 18.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.18 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณสถาบันราชการและสาธารณูปโภค บริเวณสถาบันราชการและสาธารณูปโภค การใช้ที่ดินประเภทนี้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณหมู่ 5 ซึ่งประกอบด้วย ที่ว่าการอำเภออำเภอม่วงสามสิบ สถานีตำรวจภูธรม่วงสามสิบ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอำเภอม่วงสามสิบ สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาม่วงสามสิบ ห้องสมุดประชาชนอำเภอม่วงสามสิบ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอม่วงสามสิบ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลม่วงสามสิบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.15 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณนันทนาการ การใช้ที่ดินประเภทนันทนาการมีสนามเด็กเล่น ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของพื้นที่เขตวางผัง

      บริเวณชนบทและเกษตรกรรม การใช้ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมมีมากที่สุด คือ ร้อยละ 73.27 ของพื้นที่เขตวางผัง

สภาพเศรษฐกิจ

      ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และค้าขายผลิตผลทางการเกษตร

การศึกษา

      ประชากรในชุมชนรับบริการทางการศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล 1 แห่ง คือ โรงเรียนม่วงสามสิบอำนวยปัญญา โรงเรียนเอกชน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านพิณโท โรงเรียนเบญจธัญพิทยา และโรงเรียนพิมพ์ประภาสงเคราะห์ ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาล 1 แห่ง คือ โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา

การสาธารณสุข

      ประชากรในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบรับบริการทางสาธารณสุขจากโรงพยาบาลม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีแพทย์ประจำ 5 คน พยาบาล 35 คน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอม่วงสามสิบ คลินิกเอกชนให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป 3 แห่ง และร้านขายยา 5 แห่ง

      ในกรณีเกินความสามารถการให้บริการของโรงพยาบาลม่วงสามสิบ โรงพยาบาลจะส่งตัวคนไข้เพื่อไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลราชธานี

การไฟฟ้า

      การให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอม่วงสามสิบ สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ จำนวน 1,141 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีไฟฟ้าสาธารณะให้บริการภายในชุมชนด้วย

การประปา

      การให้บริการประปาแก่ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ดำเนินการโดยกองการประปาเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ สามารถให้บริการประปาแก่ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบจำนวน 1,103 ครัวเรือน

การสื่อสาร

      ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ สามารถใช้บริการด้านการสื่อสาร ได้จากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอำเภอม่วงสามสิบ มีตู้ไปรษณีย์ 6 ตู้ โทรศัพท์สาธารณะ 10 ตู้

สถานีดับเพลิง

      การป้องกันอัคคีภัย เทศบาลตำบลม่วงสามสิบมีสถานีดับเพลิง 1 แห่ง มีรถดับเพลิงจำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์จำนวน 2 คัน รถยนต์เคลื่อนที่เร็ว(กู้ภัย) 1 คัน โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำ ตลอด 24 ชั่วโมง

ตลาดสด

      เทศบาลตำบลม่วงสามสิบ มีตลาดสดเทศบาลตำบลม่วงสามสิบ ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตั้งอยู่ริมถนนชยางกูร มีแท่นจำหน่ายสินค้า จำนวน 444 แท่น (ตลาดสดหลังที่ 1 จำนวน 120 แท่น, ตลาดสดหลังที่ 2 จำนวน 300 แท่น, ตลาดสดหลังที่ 3 จำนวน 24 แท่น) ตลาดสดในปัจจุบันคับแคบ ไม่พียงพอกับจำนวนผู้ประกอบการ

การกำจัดขยะมูลฝอย

      เทศบาลตำบลม่วงสามสิบมีบริการเก็บขยะมูลฝอยให้แก่ประชาชนในเขตเทศบาลตำบล ม่วงสามสิบโดยมีรถบรรทุกขยะ 6 ล้อ จำนวน 3 คัน รถลากเข็นขยะมูลฝอย 6 คัน ถังรองรับขยะจำนวน 200 ถัง ปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตร กำจัดขยะแบบฝังกลบ โดยขออนุญาตใช้สถานที่ป่าสงวนแห่งชาติดงแดง จำนวน 20 ไร่ เป็นที่ทิ้งขยะ ห่างจากเขตเทศบาลประมาณ 2 กิโลเมตร